วิธีการใช้ YouTube ด้วย NVDA
Forums:
หลายๆ คนคงจะรู้จัก YouTube นะครับ บางคนอาจจะเคยเข้าไปดูวิดีโอ ฟังเพลง หรือแม้กระทั่งหาหนังหรือละครดูสักเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับบางคนเวลาเข้า YouTube ก็จะแค่ใส่คำค้นหาที่ต้องการในช่องค้นหา หลังจากผลการค้นหาออกมาแล้วก็เปิดเข้าไปในผลการค้นหาที่ต้องการแล้วก็ปล่อยให้สิ่งที่เราจะดูเล่นไปเรื่อยๆ แล้วถ้าหากว่าเราต้องการที่จะ pause stop หรือเพิ่มหรือลดระดับความดังของเสียงล่ะเราจะทำยังไง เรามีวิธีการใช้ YouTube ร่วมกับ NVDA มาบอกกันครับ
ปัจจุบันนี้ YouTube มีการเล่นวิดีโอที่ถูก upload ขึ้นไป 2 แบบ คือเล่นโดยใช้ Flash กับเล่นโดยใช้ html5 ซึ่งจะอธิบายไปตามลำดับ และในบางครั้งเราอาจจะอยากเอาคลิปที่เล่นใน YouTube ไปแปะไว้ในบทความหรือ blog จะทำได้ยังไง จะบอกวิธีการ embed ไว้ในตอนท้ายของบทความนี้ด้วยครับ
การใช้ Flash บน YouTube
สำหรับการใช้ flash บน YouTube นั้น จะปรากฏเป็น embeded object หรือวัตถุฝังตัว อยู่บนหน้าเว็บ วัตถุฝังตัวนี้เป็นตัวควบคุมการเล่นคลิป เช่น การเล่น การหยุดชั่วคราว เป็นต้น ซึ่ง NVDA ก็มีฟังชั่นให้คนตาบอดเราใช้ วัตถุฝังตัวเหล่านี้ได้ (วัตถุฝังตัวที่อยู่บนเว็บไซต์อื่นก็สามารถใช้ฟังชั่นนี้ได้ ยกเว้นในบางเว็บเท่านั้นที่ผู้ใช้จะไม่สามารถเข้าถึงวัตถุฝังตัวเหล่านี้ได้) ผู้ใช้สามารถเข้าถึงวัตถุฝังตัวได้ง่ายๆ โดยกด o NVDA จะไปที่วัตถุฝังตัวในหน้าเว็บนั้น
เมื่ออยู่ที่วัตถุฝังตัวแล้ว NVDA จะอ่านว่า embeded object ให้กด enter เพื่อเข้าสู่วัตถุฝังตัว หลังจากนั้นให้ใช้ปุ่มลูกศรเพื่อดูปุ่มต่างๆ ในวัตถุฝังตัวนั้นได้ ซึ่งในตัวควบคุมจะมีปุ่มซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ควบคุมการเล่นคลิปได้ดังนี้
- Watch Later ปุ่มนี้ใช้เพื่อเพิ่มคลิปที่เรากำลังดูอยู่เข้าไปใน playlist Watch Later ซึ่งเป็น playlist ที่ YouTube สร้างให้ผู้ใช้โดยอัตโนมัติในกรณีที่ผู้ใช้มีบัญชีของ YouTube เพื่อเก็บคลิปไว้ดูในวันหลัง
- Change quality ปุ่มนี้ช่วยให้ผู้ใช้เลือกคุณภาพความละเอียดของคลิปที่กำลังเล่น โดยจะแสดงคุณภาพที่กำลังเลือกอยู่ในวงเล็บของปุ่มนั้น
- play/pause ใช้ปุ่มนี้เพื่อควบคุมการเล่นและการหยุดเล่นชั่วคราวของคลิปที่กำลังเปิดอยู่
- Mute ใช้เพื่อปิดและเปิดเสียงคลิปที่กำลังเล่น
- Small player ใช้ย่อหน้าจอและตัวควบคุมการเล่น
- Large player ใช้ขยายตัวควบคุมการเล่นคลิป
- Captions ใช้ปุ่มนี้เพื่อเปิด captions ในกรณีที่คลิปนั้นมีการใส่ caption มาด้วย
- 0:00 / 1:59 ส่วนสุดท้ายเป็นส่วนที่บอกเวลาที่กำลังเล่นและเวลาทั้งหมดของคลิป ตัวเลขแรกคือเวลาปัจจุบัน ตัวเลขหลังคือเวลาทั้งหมด
หมายเหตุ: ในบางครั้งเมื่อเข้าไปในวัตถุฝังตัวอาจจะเจอปุ่มที่ไม่มีชื่อเขียนอยู่ ไม่ต้องสับสนกับปุ่มเหล่านั้นนะครับ :)
นอกจากปุ่มต่างๆ ในวัตถุฝังตัวแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถกรอและเพิ่มหรือลดระดับความดังของเสียงคลิปที่กำลังเล่นได้อีกด้วย โดยในขณะที่อยู่ในวัตถุฝังตัวให้ใช้คำสั่ง NVDA+Space เพื่อเข้าสู่ focus mode หลังจากนั้นให้ใช้ปุ่มลูกศรขึ้น/ลง เพื่อเพิ่มและลดระดับเสียง และใช้ปุ่มลูกศรซ้าย/ขวา เพื่อกรอเดินหน้าและถอยหลัง เมื่อได้ระดับความดังหรือตำแหน่งที่ต้องการแล้วให้กดคำสั่งเดิมเพื่อออกจาก focus mode หลังจากนั้น NVDA จะกลับมาอยู่ในวัตถุฝังตัวเหมือนเดิม ถ้าหากต้องการออกจากวัตถุฝังตัวให้ใช้คำสั่ง Control+NVDA+Space NVDA จะกลับมาอยู่บนหน้าเว็บในตำแหน่งวัตถุฝังตัว หลังจากนั้นท่านสามารถใช้หน้าเว็บได้ตามปรกติ
ท่านสามารถเข้าไปลองเล่นตัวควบคุมการเล่นแบบ flash ได้ที่วัตถุฝังตัวข้างล่างนี้ครับ
การใช้ html5 บน YouTube
นอกจากจะใช้ Flash เพื่อควบคุมการเล่นคลิปแล้ว ตอนนี้ YouTube ยังมีการควบคุมการเล่นคลิปโดยใช้ html5 อีกด้วย แต่ยังเป็นการทดลองใช้อยู่ ซึ่งการใช้ตัวควบคุมการเล่นแบบ html5 นี้มีข้อดีตรงที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าการใช้ flash และยังสามารถควบคุมการเล่นคลิปได้มากกว่าการใช้ flash ด้วย
ถ้าหากผู้ใช้ต้องการเล่นคลิปบน YouTube โดยใช้ html5 จะต้องเข้าร่วมการทดลองใช้ html5 ก่อน ซึ่งทำได้โดย เข้าไปที่ http://www.youtube.com/html5 หลังจากนั้นให้หาปุ่ม Join the HTML5 Trial โดยกด h เพื่อไปที่ heading แรก หลังจากนั้นกด b จะไปที่ปุ่ม Join the HTML5 Trial (วิธีการหาปุ่มนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงถ้าหาก YouTube เปลี่ยนหน้าตาของหน้าเว็บนี้) แล้วกด enter หรือ space bar ที่ปุ่มนั้นเพื่อเข้าร่วมการทดลองใช้ html5 หลังจากนั้นเมื่อท่านเปิดคลิปใน YouTube จะปรากฏตัวควบคุมการเล่นแบบ html5 แทนตัวควบคุมที่เป็น flash และถ้าหากท่านต้องการกลับมาใช้ตัวควบคุมการเล่นแบบ flash ท่านสามารถเข้ามาที่หน้าเว็บนี้แล้วหาปุ่ม Leave the HTML5 Trial เพื่อออกจากการทดลองใช้ html5 หลังจากนั้นเมื่อท่านเล่นคลิปบน YouTube ตัวควบคุมการเล่นก็จะกลับมาเป็น Flash
หมายเหตุ: ผู้ใช้จะต้องทำตามขั้นตอนนี้เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นตัวควบคุมการเล่นจเปลี่ยนเป็น html5 โดยไม่ต้องกลับมาทำซ้ำอีก ยกเว้นในกรณีที่มีการล้าง cookies ของ browser ที่ใช้อยู่เท่านั้น จึงจะต้องกลับมาทำตามขั้นตอนนี้อีก
ท่านสามารถเข้าถึงตัวควบคุมการเล่นแบบ html5 ได้โดยการหาปุ่ม pause บนหน้าเว็บในขณะที่กำลังเล่นคลิปอยู่ หรือหาปุ่ม play ในกรณีที่ไม่มีการเล่นคลิป (จริงๆ ก็คือปุ่มเดียวกัน แต่อธิบายแยกกันเพื่อป้องกันความสับสนซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้)
ตัวควบคุมการเล่นแบบ html5 มีปุ่มควบคุมต่างๆ ดังนี้
- play/pause ใช้ปุ่มนี้เพื่อเริ่มเล่นหรือหยุดชั่วคราวคลิปที่กำลังเล่นอยู่
- mute toggle ใช้เพื่อเปิดหรือปิดเสียงของคลิป
- slider 100% volume แสดงระดับความดังของคลิป ส่วนนี้สามารถเปลี่ยนได้ตามระดับความดังซึ่งจะอธิบายต่อไป
- 0:00 / 1:59 ส่วนนี้เป็นการแสดงเวลาที่กำลังเล่นและเวลาทั้งหมดของคลิป ตัวเลขแรกคือเวลาปัจจุบันของคลิป ตัวเลขหลังคือเวลาทั้งหมด
- Full screen ใช้ปุ่มนี้ในการขยายภาพของคลิปที่กำลังดูอยู่ให้เต็มหน้าจอ
- small player ใช้ย่อตัวควบคุมการเล่นคลิป
- Large player ใช้ขยายตัวควบคุมการเล่นคลิป
- Watch Later ปุ่มนี้ใช้เพื่อเพิ่มคลิปที่เรากำลังดูอยู่เข้าไปใน playlist Watch Later ซึ่งเป็น playlist ที่ YouTube สร้างให้ผู้ใช้โดยอัตโนมัติในกรณีที่ผู้ใช้มีบัญชีของ YouTube เพื่อเก็บคลิปไว้ดูในวันหลัง
- Settings ตั้งค่าต่างๆ ในการเล่นคลิป ได้แก่ ตั้งความเร็วในการเล่น และเลือกความละเอียดของคลิป เมื่อกดปุ่มนี้แล้วให้ไปที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บแล้วเลื่อนลูกศรขึ้นมาเพื่ออ่านค่าต่างๆ ถ้าอ่านเจอค่าที่ต้องการแล้วให้กด enter หรือ space
- Captions toggle สลับการเปิดและปิด caption สามารถเลือกการเปิดและปิดได้โดยไปที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บแล้วเลื่อนลูกศรขึ้นเพื่ออ่านค่า ถ้าต้องการสลับการตั้งค่าให้กด enter หรือ space
- 3D ใช้ปุ่มนี้เพื่อสลับการเปิดหรือปิดการแสดงภาพแบบ 3 มิติ หมายเหตุ: ปุ่ม settings และปุ่ม caption toggle ถ้ามีการกดปุ่มนี้ซ้ำจะเป็นการปิด menu การตั้งค่าด้านล่างของหน้าเว็บ
นอกจากการควบคุมการเล่นด้วยปุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวควบคุมแล้ว ท่านยังสามารถเพิ่มหรือลดระดับเสียงและกรอเดินหน้าหรือถอยหลังคลิปที่กำลังเล่นอยู่ได้ โดยการเลื่อนไปอยู่ที่ตัวควบคุม (จะอยู่ปุ่มไหนก็ได้ที่อยู่ในตัวควบคุม) แล้วใช้คำสั่ง alt+ลูกศรซ้าย/ขวา เพื่อกรอเดินหน้าหรือถอยหลัง และใช้คำสั่ง Alt+ลูกศรขึ้น/ลง เพื่อเพิ่มหรือลดระดับความดังของเสียง
ท่านสามารถลองใช้ตัวควบคุมการเล่น html5 ได้ที่ตัวควบคุมการเล่นข้างล่างนี้ (จะต้องเข้าร่วมการทดลองใช้ html5 ตามที่บอกไว้ตอนต้นก่อน จึงจะเห็นคลิปเป็นแบบ HTML5)
การนำวัตถุฝังตัวจาก YouTube มาฝังไว้ในกระทู้ บทความหรือ blog อื่นๆ
สำหรับใครที่ชอบเขียน blog ชอบเขียนกระทู้ หรือทำเว็บไซต์ของตัวเอง ในบางครั้งก็อาจจะอยากเอาคลิปบน YouTube ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของตัวเองมาใส่ไว้ด้วย แต่บางคนก็ไม่รู้วิธีใช่ไหมครับ วิธีที่จะแปะวัตถุฝังตัวไม่ยากครับ สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ครับ
- เข้า YouTube ในหน้าคลิปที่ต้องการจะเอาไปแปะ
- หาปุ่ม share แล้วกด space หรือ enter
- หลังจากนั้น NVDA จะไปอยู่ที่ช่อง URL ของคลิปที่เรากำลังเปิดอยู่ และเข้าสู่ focus mode ให้กด NVDA+Space bar เพื่อเข้าสู่ browse mode
- ให้เลื่อนขึ้นมาที่บรรทัดก่อนหน้าจะปรากฏปุ่มเพิ่มขึ้นมา 4 ปุ่มคือ ปุ่ม Share this video ปุ่ม Embed ปุ่ม Email Video ปุ่ม call ให้ไปที่ปุ่ม embed
- กด enter หรือ space barที่ปุ่ม embed
- จะมีกล่องข้อความขึ้นมาที่บรรทัดถัดจากปุ่มทั้ง4 ปุ่ม ในกล่องข้อความนั้นจะมี code html อยู่ ให้คัดลอก code ทั้งหมดมาวางในที่ที่ต้องการแปะคลิปวิดีโอนั้นๆ ได้ทันที
- 13648 reads